ชนิดของอาหารที่รับประทานกับความเสี่ยงต่อการแท้งบุตร

23 Aug 2023

นพ.พัฒน์ศมา วิจินศาสตร์วิจัย

วว.สูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา, วว.เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์, 

ป.ผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช, MClinEmbryol,
EFOG-EBCOG., EFRM-ESHRE/EBCOG. 

จากนิตยสารวิชาการ Fertility and Sterility ของ American Society for Reproductive Medicine ฉบับ ส.ค.​2023 มีการลงตีพิมพ์บทความของ Yealin Chung และคณะ เรื่อง 'The association between dietary

patterns and risk of miscarriage: a systematic review and meta-analysis' ที่รวบรวมการศึกษาที่เก็บข้อมูลประเภทอาหารและความเสี่ยงต่อการแท้งบุตร ผลการศึกษาเค้าสรุปว่ายังไง มาดูกับหมอกัน

การรับประทานผลไม้กับโอกาสแท้งบุตร

จากการรวบรวมข้อมูลจาก 3 งานวิจัย พบว่าการรับประทานผลไม้ปริมาณมาก (high fruit intake) ลดโอกาสแท้งบุตรได้ถึงร้อยละ 61 

2. ผัก (Vegetables)

ข้อมูลจากงานวิจัย 3 การศึกษาพบว่าการรับประทานผักมาก (high vegetable intake) ช่วยลดโอกาสแท้งบุตรได้ถึงร้อยละ 41

การรับประทานผักกับโอกาสแท้งบุตร

3. ทั้งผลไม้และผัก (Fruit and vegetables) 

ทีนี้ถ้ากินเยอะทั้งผัก ทั้งผลไม้หละ จะทำให้โอกาสแท้งลดไปอีกหรือเปล่า จากงานวิจัย 3 วิจัยพบว่า การรับประทานผลไม้และผักมาก (high fruit and vegetables intake) ลดโอกาสแท้งบุตรได้ร้อยละ 37 ซึ่งไม่ได้แตกต่างจากการรับประทานผลไม้หรือผักมากอย่างเดียว

4. เนื้อสัตว์ (Meat)

จากการศึกษา 2 งานวิจัย พบว่าการรับประทานเนื้อสัตว์ (ประเด็นนี้คือรวมทุกเนื้อ จะเนื้อแดง เนื้อขาว หมู วัว ควาย ไก่ ปลา) แม้ว่าจะในปริมาณมากก็ไม่ได้สัมพันธ์กับการแท้งบุตร 

การบริโภคเนื้อแดง (Red meat) กับโอกาสแท้งบุตร

5. เนื้อแดง (Red meat)

เนื้อแดง (Red meat) หมายถึง สีของเนื้อสัตว์ขณะที่ยังดิบอยู่มีสีแดง เช่น เนื้อวัว เนื้อควาย เนื้อหมู เนื้อกวาง เนื้อแพะ เนื้อแกะ เนื้อหมูป่า เป็นต้น การบริโภคเนื้อแดงมาก ๆ เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพหลายชนิด เช่น โรคเมตาบอลิก โรคหัวใจ

เป็นที่น่าเสียดายแก่คนไข้ทุกคนที่การบริโภคเนื้อแดงมาก ๆ ก็ไม่ได้เพิ่มโอกาสการแท้งบุตรอย่างที่หลาย ๆ ท่านเข้าใจ

6. เนื้อขาว (White meat) 

เนื้อขาว (White meat) หมายถึง เนื้อสัตว์ที่มีสีซีดขณะที่ยังดิบอยู่ เช่น เนื้อไก่ เนื้อไก่งวง เนื้อปลา หอย กุ้ง เป็นต้น เนื้อขาวเราถือว่าดีต่อสุขภาพมากกว่าเนื้อแดงอยู่แล้ว สอดคล้องกับการศึกษา 2 งานวิจัยที่พบว่าการบริโภคเนื้อขาวมีแนวโน้มว่าอาจลดโอกาสการแท้งบุตรได้ แต่ด้วยข้อมูลมียังไม่มากทำให้ยังถือว่ายังไม่มีนัยสำคัญทางคลินิก

7. อาหารทะเล (Seafood)

สำหรับผู้ที่ชื่นชอบอาหารทะเล ไม่ว่าจะร้านเจ๊ไข่ ประชาชื่น หรือร้านเขียว ร้านแดง เยาวราช ก็คงจะฟินไปกับข้อ 7 ไม่น้อยเลยนะครับ เพราะว่าจากงานวิจัยถึง 4 การศึกษาที่พบว่า การบริโภคอาหารทะเลปริมาณมาก (มากหมายถึงอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 มื้อ) สามารถลดโอกาสการแท้งบุตรได้ร้อยละ 19 

แต่อย่างไรก็ตาม ผลของการบริโภคอาหารทะเลกับโอกาสการแท้งบุตรขึ้นอยู่กับประชากรที่ศึกษาและชนิดของอาหารทะเลที่บริโภคด้วย เนื่องจากอาหารทะเลอาจมีสารพิษ เช่น โลหะหนัก ปนเปื้อนในปริมาณสูงในบางพื้นที่ ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพและทารกในครรภ์ได้นั่นเอง

8. ผลิตภัณฑ์นม (Dairy products)

ผลิตภัณฑ์นม (Dairy products) ได้แก่ นมสด เนย ชีส ครีม โยเกิร์ต ไอศกรีม รวมไปถึง​ เวย์โปรตีนและเคซินโปรตีน อีกด้วย 

ผลิตภัณฑ์นมนอกจากจะเป็นแห่งแคลเซียมและวิตามินดีอันจำเป็นต่อการเจริญพัฒนาของทารกในครรภ์แล้ว จากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องทั้ง 5 การศึกษาพบว่าการบริโภคผลิตภัณฑ์นมปริมาณสูงยังช่วยลดโอกาสแท้งได้ถึงร้อยละ 37 

9. ไข่ (Eggs)

ไข่ ไม่ว่าจะเป็นไข่ไก่ ไข่เป็ด ไข่นกกระทา ไข่นกกระจอกเทศ ถือว่าเป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพดี ราคาไม่แพง นอกจากนี้ไข่แดงยังอุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญ เช่น วิตามิน คอเลสเตอรอล ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ 

นอกจากนี้จากงานวิจัย 3 การศึกษาพบว่าการบริโภคไข่ปริมาณสูงยังช่วยลดโอกาสการแท้งบุตรได้ถึงร้อยละ 19 

10. ธัญพืช (Cereal)

จากการศึกษา 2 งานวิจัยพบว่าผู้ที่บริโภคธัญพืชในสัดส่วนสูงช่วยลดโอกาสการแท้งบุตรได้ร้อยละ 33 

11. ไขมันและน้ำมัน (Fat and oil)

ใครเคยมาตรวจกับหมอแล้วหมอบังคับให้ท่องว่า "Fat is Good' 'Fat is Good' 'Fat is Good' 3 รอบติด ๆ กันบ้าง 

การแพทย์ในระยะหลังมักมีข้อมูลที่ทำให้ไขมันและน้ำมันกลายเป็นผู้ร้ายทำลายสุขภาพเสียจนเกินความจริงไป อย่าลืมว่าไขมันถือว่าเป็นสารอาหารที่สำคัญที่ใช้ในการเจริญพัฒนาของทารกในครรภ์มากนะครับ ไม่ว่าจะเป็นเซลล์ของระบบประสาท เป็นส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์ นอกจากนี้คอเลสเตอรอลยังเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์ฮอร์โมนเพศทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเพศหญิง (estrogen และ progesterone) หรือเพศชาย (testosterone) อย่างไรก็ตามการบริโภคไขมันในสัดส่วนที่สูงไม่ได้ลดโอกาสการแท้งบุตร

12. สารให้ความหวานแทนน้ำตาล (Sugar substitutes)

คนไทยเราค่อนข้างติดหวานนะหมอว่า จะเห็นได้จากทำกับข้าวเราก็ต้องหยอดน้ำตาลลงไปนิดนึงให้รสมันกลม (ไม่แน่ใจว่ารสหรือตัวจะกลมก่อนกัน)​ ทำขนม ของหวาน ไม่ต้องพูดถึง ของหวานก็ต้องหวานแหลมขึ้นมาเลย แม้กระทั่งทำแกงเขียวหวาน ซึ่งหวานในแกงเขียวหวานหมายถึงสีนะคะ ไม่ใช่รส แต่ฉันก็อยากจะหวาน ก็จะเถียงนิดนึง ก็มันเขียวหวาน ถ้ารสไม่หวานจะเรียกเขียวหวานได้ไงคะ 

น้ำตาลถ้าบริโภคปริมาณสูงอาจทำให้อ้วนลงพุงและไข่ไม่ตกตามมาได้นะเธอว์ ดังนั้นสารให้ความหวานแทนน้ำตาล ไม่ว่าจะมาจากธรรมชาติ เช่น หญ้าหวาน หล่อฮํ้งก๊วย หรือสารสกัด เช่น สารสารพัดที่เค้าใส่ไปในน้ำอัดลมพวก Zero Light และ Sugar Free ไงจ้ะ จากงานวิจัย 2 การศึกษายังดีที่พบว่าการบริโภคสารให้ความหวานแทนน้ำตาลเหล่านี้ไม่ได้ทำให้โอกาสแท้งบุตรเพิ่มขึ้น

Sugar substitutes กับการแท้งบุตร

13. การบริโภคอาหารอื่น ๆ (Miscellaneous) 

นอกจากสาร/อาหารที่กล่าวไป 12 รายการข้างต้น ยังมีรายการอาหารอีก 10 รายการที่อาจจะเคยเห็นผ่านหูผ่านตามาบ้างว่าได้เคยตกเป็นจำเลยให้กับโรคต่าง ๆ มามากมาย แต่จากการรวบรวมข้อมูลการศึกษาเราไม่พบว่าอาหารเหล่านี้ทำให้โอกาสการแท้งบุตรเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด อาหารเหล่านี้ได้แก่

13.1 Refined sugar หรือน้ำตาลฟอกสี ก็คือน้ำตาลทรายขาวที่เราใช้กันนั่นแหละครับ

13.2 ของหวาน

13.3 ชอคโกแลต

13.4 น้ำหวาน น้ำอัดลม

13.5 ถั่วต่าง ๆ

13.6 ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง 

13.7 โปรตีนจากพืช

13.8 Fastfood

13.9 เนื้อสัตว์แปรรูป โอ้ยอันนี้บ้านเรามีเยอะ ไส้กรอก แฮม ไปจนถึงหมูยอ หมูแผ่น หมูหยอง 

13.10 ของทอดต่าง ๆ


สรุป

จากสิบกว่ารายการที่กล่าวมา สรุปแล้วเหลืออาหารที่ช่วยป้องกันการแท้งได้อยู่ 6 รายการได้แก่ 

สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ต้องปฏิบัติและเตือนตัวเองอยู่เป็นกิจวัตรก็คือการบริโภคอาหารให้หลากหลาย ครบถ้วน พอดี ๆ จะดีที่สุด

ด้วยความปรารถนาดี

หมอพัฒน์ศมา