Prevalence of infertility

ภาวะมีบุตรยากพบบ่อยแค่ไหน

นพ.พัฒน์ศมา วิจินศาสตร์วิจัย

วว.สูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา, วว.เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์, 

ป.ผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช, MClinEmbryol,
EFOG-EBCOG., EFRM-ESHRE/EBCOG. 

ภาวะมีบุตรยาก (infertility) หมายถึงคู่สมรสคู่หนึ่งมีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง (ณ จุดนี้บางคู่อาจเรียกว่ามีภาวะทำการบ้านยาก แบบคนนึงทำงานจังหวัดนึง อีกคนทำงานอีกจังหวัด อยู๋ไกลสุดหล้าฟ้าเขียว สัปดาห์นึงเจอกันทีงี้เป็นต้น) เป็นเวลาอย่างน้อย 12 เดือน โดยไม่ได้ใช้วิธีใด ๆ คุมกำเนิด

แต่ถ้าฝ่ายหญิงอายุ #37ปี ขึ้นไปก็อย่ารอครบปีเลยเธอ เดี๋ยวจะออกหลักสี่ (สิบ) ดอนเมือง รังสิต ไปอยุธยาขึ้นเหนือไปเปล่า ๆ  6 เดือนถ้ายังไม่สมใจก็มาปรึกษาหมอได้แล้วแหละ


#ภาวะมีบุตรยากพบบ่อยแค่ไหน?

ข้อมูลจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี พ.ศ. 2556 ประมาณจำนวนคู่สมรสใน กทม. มีราว 42,000 คู่ และพบว่าราว 1 ใน 3 ของคู่สมรสใน กทม. มีปัญหามีบุตรยาก (ประมาณ 14,000 คู่) ซึ่งในคู่สมรสมีบุตรยากนี้ มีโอกาสเข้ารับการรักษาได้เพียง 1 ใน 3 เท่านั้นเอง (ราว ๆ  4,700 คู่)

ส่วนสถิติทั้งประเทศไทยมีคู่สมรสราว 3 แสนคู่ จากงานวิจัยทั่วไปความชุกของภาวะมีบุตรยาก ร้อยละ 10 ก็น่าจะมีคู่สมรสราว 30,000 คู่มีปัญหามีบุตรยาก 

#ทำไมคนไทยถึงรักษามีบุตรยากน้อย?

ปัจจัยที่ทำให้คู่สมรสที่มีปัญหามีบุตรยากส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงการรักษา ทั้ง ๆ ที่คลินิกมีบุตรยากเปิดกันราวดอกเห็ด medical tourism จากต่างประเทศ​บินเข้าบินออกเป็นว่าเล่น ทำเงินให้ประเทศหลายพันล้านบาทต่อปี สาเหตุน่าจะเป็นจาก

1. ค่าใช้จ่ายในการรักษา โดยทั่วไปก็มีตั้งแต่ 4,000-300,000 บาทต่อรอบการรักษา ขึ้นกับว่าไปรักษาที่สถานพยาบาลของรัฐบาลหรือเอกชน

2. ไม่รู้ว่าโอกาสการมีลูกมันลดลงตามอายุ โดยเฉพาะผู้หญิงนะจ้ะ นึกว่าเธอจะมีไข่มีลูกได้ชั่วฟ้าดินสลาย เดี๋ยวจะมาเล่าให้ฟังต่อครั้งหน้า จะตกใจว่าทำไมรู้จริงกันน้อยจัง

3. ไม่สามารถเบิกจ่ายตามสิทธิการรักษาใด ๆ ได้ อัตราการเกิดของคนไทยลดลงทุกปี จนปี 2564 และ 2565 ที่ผ่านมาพบว่าจำนวนคนตายสูงกว่าจำนวนคนเกิดแล้ว ในอนาคตประเทศไทยก็จะมีคนวัยทำงานน้อยลง ก็ต้องช่วยกันเรียกร้องให้รัฐบาลอนุมัติให้เบิกได้บ้างเนอะ อย่างประเทศพัฒนาแล้วเค้าถือว่าภาวะมีบุตรยากเป็นโรค เบิกได้ แม้กระทั่งการทำเด็กหลอดแก้ว เช่น เนเธอร์แลนด์  ประชากรทำเด็กหลอดแก้วฟรี 6 รอบ, อิตาลี 3 รอบ, ออสเตรเลียทำได้ไม่อั้นตามที่หมอพิจารณาสมควร ฯลฯ เป็นต้น การลงทุนกับทรัพยากรประชากรในระยะยาวคุ้มค่าแน่นอน

4. การรักษาไม่ได้ทำให้ท้องได้ 100% คือ.....​คุณคนไข้จ้ะ หมอจะบอกว่าส่วนใหญ่กินแห้วกลับบ้านนะ ต้องอดทน รอเวลา อารมณ์แบบอยากได้กระเป๋า Bergins ของ Hermes หรือนาฬิกา Rolex บางรุ่นอะ จองวันนี้ได้อีก 2-3 ปีข้างหน้า มีเงินก็ซื้อไม่ได้หยะ

5. เสียเวลามาก อย่างทำเด็กหลอดแก้วนี่เดือนนึงมา รพ. 4-5 รอบ ถ้ามาเจอหมอก็รอนานอีก (ไม่ใช่อะไรไปทำงานสาย ฮ่าๆๆๆๆ) ซึ่งเป็นภาระกับคนไข้เนอะ มาโรงพยาบาลทีนึงก็ลำบากจะแย่แล้ว มาเดือนละหลายๆ รอบ บางที่ไม่รู้ต้องรอหมอถึงเมื่อไหร่จะได้เจอ ก็จะเป็นอุปสรรคพอควร

6. ขาดระบบสนับสนุนทางสังคมที่ช่วยให้คนไข้เข้าถึงการรักษา ที่ทำงานบางคนลาป่วยมาตรวจไม่ได้นะยะ คิดว่าการมีลูกเป็นเรื่อง luxury แบบมีก็ได้ไม่มีก็ได้ ดังนั้นอยากไปรักษาเชิญใช้วันลาพักร้อนไปจ้า บริษัทมีวันลา 10 วันต่อปี มารักษาไป 2 รอบก็เรียบร้อย วันลาหมดลาก่อน

ยังไงก็อย่าเพิ่งท้อแท้นะครับ ค่อยๆ เดินไปด้วยกัน ขอแต่รีบมาตรวจเหอะ อย่านิ่งนอนใจรอ เวลายิ่งผ่านไป โอกาสก็ยิ่งน้อยลงนะจ้ะ

ด้วยความปรารถนาดี 

หมอพัฒน์ศมา

แสดงความคิดเห็น