การฟื้นฟูรังไข่สำหรับ

ผู้ที่มีไข่น้อยหรือ

รังไข่เสื่อมก่อนวัย

นพ.พัฒน์ศมา วิจินศาสตร์วิจัย

วว.สูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา, วว.เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์, 

ป.ผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช, MClinEmbryol,
EFOG-EBCOG., EFRM-ESHRE/EBCOG. 

DOI ROI.MP4

สวัสดีคนไข้ที่รักทุกท่าน วันนี้หมอจะเอาบทความวิชาการมาย่อยให้ฟังอีกเช่นเคยนะครับ สำหรับวันนี้เป็นเรื่องของคนไข้ที่มีไข่น้อย (DOR; Diminished ovarian reserve) หรือรังไข่เสื่อมก่อนวัยอันควร (POI; Premature ovarian insufficiency) โดยเฉพาะครับ จากบทความ Ovarian rescue in women with premature ovarian insufficiency: facts and fiction. Pellicer, Nuria et al. Reproductive BioMedicine Online, Volume 46, Issue 3, 543 - 565. ได้รวบรวมวิธีการรักษาเพื่อฟื้นฟูรังไข่ในผู้ป่วยกลุ่ม DOR และ POI ที่มีประสิทธิภาพไว้ 3 ชนิด ดังต่อไปนี้ (อาหารเสริมไม่ต้องมาถามนะครับ ถ้าเลยมาถึงจุดที่กระตุ้นแล้วได้ 1-2 ใบหรือไม่มีไข่นี่เรียกว่าเลยจุดอาหารเสริมไปมากแล้ว) 

เป็นการรักษาโดยการผ่าตัดผ่านกล้องเอาเนื้อเยื่อรังไข่ออกมานอกร่างกายเพื่อเอามาปลุกถุงไข่ที่ยังไม่ตื่น (primordial follicle) ให้ตื่นขึ้นมาทำงานมากขึ้นโดยวิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการตัดให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ หรือการใช้ยาหรือสารบางชนิดเลี้ยงไปกับเนื้อเยื่อรังไข่เหล่านี้ (เช่น PTEN inhibitor; bPV(HoPic)) หลังจากเลี้ยงเนื่อเยื่อรังไข่ครบตามกำหนดก็ต้องผ่าตัดผ่านกล้องเอาเนื้อเยื่อรังไข่ดังกล่าวปลูกถ่ายกลับไปที่รังไข่เพื่อให้ถุงไข่ที่ถูกปลุกขึ้นมาเจริญเติบโตต่อไป ไม่ว่าจะด้วยตัวเองหรือกระตุ้นทำเด็กหลอดแก้ว มีการรักษาวิธีนี้ในหลายประเทศ​ เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งก็พบว่าได้ผลสำเร็จค่อนข้างน่าพอใจ แต่อย่างไรก็ตามวิธีนี้มีข้อเสียได้แก่ การต้องผ่าตัดผ่านกล้องเข้าไปในช่องท้องถึง 2 ครั้ง และการใช้ยาเพิ่มเติมเข้าไปในการเลี้ยงเนื้อเยื่อรังไข่ ซึ่งยังไม่ทราบถึงผลกระทบระยะยาวทั้งต่อตัวผู้ป่วย เช่น อาจกระตุ้นการเกิดมะเร็ง หรือผลระยะยาวต่อทารกที่เกิดมา วิธีนี้จึงยังไม่เป็นที่นิยมนัก

การใช้สเตมเซลล์เข้าไปฟื้นฟูถุงไข่ สเตมเซลล์ที่ว่าอาจได้มาจากการเจาะไขกระดูกของผู้ป่วยเอง (bone marrow-derived stem cells; BMDSC) จากการกรองจากเลือดของผู้ป่วยหลังจากได้รับยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือด (hematopoietic stem cells; HSC) หรือได้มาจากเลือดสายสะดือทารกแรกคลอด (umbilical cord-derived mesenchymal stem cells; UCMSC) วิธีการนำไปใช้อาจใช้การฉีดผ่านเส้นเลือดแดงที่ไปเลี้ยงรังไข่ ฉีดเข้าไปที่เนื้อรังไข่โดยตรงหรืออาจจะแค่ให้ยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือด สเตมเซลล์เหล่านี้ก็จะสร้าง growth factor ในระดับสูงและอาจมีการแบ่งเซลล์อีกระยะหนึ่งทำให้ผลการรักษาอยู่ได้นาน มีการศึกษามากมายที่พิสูจน์ว่าการใช้สเตมเซลล์ทำให้มีโอกาสมีไข่เพิ่มขึ้น ระดับฮอร์โมนดีขึ้น รวมทั้งอาจเกิดการตั้งครรภ์ได้ แต่ข้อกังวลโดยเฉพาะเรื่องของสเตมเซลล์ที่มาจากสายสะดือซึ่งไม่ใช่เซลล์ของผู้ป่วยเอง แต่อย่างไรก็ตาม UCMSC นี้มีคุณสมบัติพิเศษคือตัวเซลล์เค้าจะไม่แสดงลักษณะความเป็นตัวตนบนผิวเซลล์​ (allogenic) ทำให้นำไปใช้ได้โดยไม่ต้องกังวลว่าระบบภูมิคุ้มกันของเราจะมีปฏิกิริยากับเซลล์เหล่านี้ ข้อเสียอีกอย่างคือเซลล์บริจาคเหล่านี้ต้องผ่านการเลี้ยงในห้องปฏิบัติการคุณภาพสูง มีการทดสอบคุณสมบัติของเซลล์อย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อนมาถึงมือคนไข้เพื่อความปลอดภัยอย่างแท้จริง ทำให้ราคาของสเตมเซลล์นี้ค่อนข้างสูง (หลายหมื่นบาทต่อการรักษาหนึ่งครั้ง)​ และผลการรักษาอาจต้องรอถึง 3-4 เดือนเลย

วิธีนี้หมอเคยแนะนำหลายครั้งแล้ว ก็คือการเอาเลือดของผู้ป่วยเองมาสกัดแยกเอาเกล็ดเลือดความเข้มข้นสูงและเอาไปกระตุ้นให้เกล็ดเลือดทำงานแล้วจึงฉีดกลับไปที่รังไข่ของผู้ป่วยต่อไป โดยพบว่าวิธีนี้ทำให้คนไข้มีจำนวนไข่ตั้งต้นเพิ่มขึ้น ได้ไข่จากการกระตุ้นทำเด็กหลอดแก้วสูงขึ้น โอกาสท้องสูงขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่ามีตัวอ่อนที่มีโครโมโซมปกติเพิ่มขึ้น โดยระยะเวลาที่เห็นผลขึ้นอยู่กับคนไข้มีไข่น้อย หรือรังไข่เสื่อมแล้ว ถ้าไข่น้อย (DOR) อาจเห็นผลตั้งแต่ 1-3 เดือนหลังจากรักษา ส่วนคนไข้ที่รังไข่เสื่อมแทบไม่มีไข่แล้ว​ (POI) อาจต้องใช้เวลาถึง 3-5 เดือนจึงจะเห็นผลเนื่องจาก PRP ต้องไปปลุกตั้งแต่ระดับถุงไข่ที่ยังไม่หลับ (primordial follicles) ซึ่งอาจต้องใช้เวลาถึง 5 เดือนจึงจะเจริญถึงระยะที่อัลตราซาวนด์แล้วมองเห็น (antral stage) พบว่า PRP มีค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้แพง และผลการรักษาค่อนข้างดี หมอว่า ณ ตอนนี้ PRP ดูเป็นทางเลือกที่คุ้มค่า คุ้มราคาที่สุด


จะเห็นว่าในคนไข้ที่เป็น DOR หรือ POI การทำให้รังไข่ฟื้นขึ้นมานั้นยากลำบากจริง ๆ ดังนั้นคนไข้คนไหนที่เข้าข่ายมีบุตยากก็รีบ ๆ มารักษาเถอะครับก่อนที่เวลาจะทำร้ายเราไปมากกว่านี้ 


ด้วยความปรารถนาดี


นพ.พัฒน์ศมา