จำนวนไข่น้อย 

ไข่คุณภาพไม่ดี ทำไงดี

นพ.พัฒน์ศมา วิจินศาสตร์วิจัย

วว.สูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา, วว.เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์, 

ป.ผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช, MClinEmbryol,
EFOG-EBCOG., EFRM-ESHRE/EBCOG. 

คนไข้คนไหนเคยเจอปัญหาเหล่านี้บ้าง...

#จำนวนไข่น้อย

#ไข่คุณภาพไม่ดี

#ตัวอ่อนไม่สวย

#ตัวอ่อนจำนวนน้อย

#ตัวอ่อนโครโมโซมผิดปกติ

#ย้ายตัวอ่อนแล้วไม่ท้อง

น่าน...​ยกมือกันเป็นทิวแถว ปัญหาเหล่านี้อาจสาเหตุมาจากทั้งอายุที่ทำร้ายเราไม่ใช่เล่น จากยากระตุ้นไข่ที่ยังไม่เหมาะสม หรือจากการเก็บไข่และการดูแลในห้องปฏิบัติการ บางคนปรับเปลี่ยนทุกอย่างจนหมอแทบจะยอมแพ้แล้วก็ยังไม่ได้สักที...

การรักษาก็ต้องแก้ไขปัญหาจุดที่เราพบก่อน นอกจากนี้ก็จะมีการรักษาเสริมที่พยายามออกมาแก้ไขปัญหาเหล่านี้

#ปัญหาไข่น้อย #ไข่ไม่สวย

มีการรักษามากมาย เช่น


DHEA 

DHEA เป็นฮอร์โมนเพศชายอ่อน ๆ ที่ปกติสร้างจากต่อมหมวกไต ในต่างประเทศตามชั้นอาหารเสริมมีขายทั่วไปโดยขนาดในผู้หญิงคือวันละ 25 มก.ต่อวันเท่านั้นนะครับ (มีขนาด 100 มก.ต่อวันด้วยแต่สำหรับผู้ชายที่มีปัญหาเรื่องการขาดฮอร์โมนเพศชายเท่านั้นนะครับห้ามใช้เด็ดขาด)

DHEA ขนาดน้อย ๆ จะไปกระตุ้นให้ถุงไข่ตั้งต้นจำนวนเพิ่มขึ้นได้ ในงานวิจัยพบว่าทำให้จำนวนไข่ที่กระตุ้นเพิ่มขึ้นได้ 1-2 ใบ (อย่าดูถูกไข่ใบเดียวนะ มีการศึกษาพบว่าไข่ที่เพิ่มขึ้นแต่ละใบอาจเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ให้กับคุณได้ถึง 5%  เลยทีเดียว)​

แต่อย่างไรก็ตาม  DHEA มีข้อเสียคือต้องใช้เวลา 2-3 เดือนถึงจะเริ่มเห็นผล และที่สำคัญคือหากแม้กระทั่งขนาด 25 มก. ในคนไทย อาจจะมากเกินไป DHEA และฮอร์โมนเพศชายขนาดสูงแทนที่จะทำให้ได้ไข่ดี ๆ กลับไปกระตุ้นการตายของเซลล์ไข่หนะสิ หมอเคยเจอคนไข้ที่แอบกิน DHEA พอเก็บไข่ปรากฎว่าในถุงไข่ที่ดูดออกมาไม่มีไข่เหลืออยู่เลย เป็นแค่เศษเซลล์ที่ตายไปนานแล้วเท่านั้นเอง


Growth Hormone (GH) 

เป็นฮอร์โมนที่ปกติสร้างมาจากต่อมใต้สมอง โดยเฉพาะช่วงเวลาที่เรานอนเพื่อซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย โดปกติ Growth Hormone จะสร้างน้อยลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น ก็เลยมีคนเอา growth hormone มาใช้รักษาเพื่อเพิ่มจำนวนไข่ ซึ่งก็ได้ผลเล็กน้อย เพิ่มจำนวนไข่ได้ 1-2 ฟอง แต่อย่างไรก็ตามข้อเสียหลัก ๆ ของ growth hormone ก็คือต้องฉีดยาทุกวันเป็นเดือน ราคาแพง (หลักหลายหมื่นถึงแสนต้นๆ)​ และผู้สั่งยาต้องเป็นกุมารแพทย์ (หมอรักษาเด็ก) สาขาต่อมไร้ท่อ เท่านั้น สาขาอื่นสั่งยาให้ไม่ได้จ้า


Platelet-rich plasma (PRP)

Platelet-riched plasma (PRP) เป็นการรักษาที่กำลังมาแรง เริ่มมีงานวิจัยพูดถึงในปีสองปีนี้ PRP ได้มาจากเลือดของเราเองเจาะออกมาไปปั่นในห้องแลปเพื่อให้ได้เกล็ดเลือดเข้มข้น (ความเข้มข้น 2-3 เท่าของเกล็ดเลือดในเลือด) แล้วก็เอามาฉีดกลับเข้าไปในรังไข่

ปกติเลือดทำหน้าที่นำเอาสารอาหารไปเลี้ยงร่างกาย นำออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกาย มีระบบภูมิคุ้มกันต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอม สร้างสารต่าง ๆ เพื่อซ่อมแซมส่วนของร่างกายที่บาดเจ็บและกำจัดของเสียออกจากร่างกาย

เกล็ดเลือด (platelet) เป็นส่วนประกอบหนึ่งของเลือด ที่ทำหน้าที่เป็นกลไกแรกของร่างกายที่ทำงานเพื่อซ่อมแซมส่วนที่บาดเจ็บ เมื่อเกล็ดเลือดถูกกระตุ้นจะสร้างสารต่าง ๆ ออกมา (ดังในภาพ) โดยเฉพาะ platelet-derived growth factor (PDGF) ซึ่งมีบทบาทสำคัญเกี่ยวในการย้อนวัยเนื้อเยื่อต่าง ๆ ได้

มีการใช้ PRP ในการรักษาโรคที่เกี่ยวกับความเสื่อมตามอายุหลายอย่างเป็นเวลานานหลายสิบปีแล้ว เช่น ข้อเข่าเสื่อมก่อนการผ่าตัดเปลี่ยนเข่า ผมร่วง แม้กระทั่งฉีดให้ผิวหน้าอ่อนเยาว์ รังไข่ที่เสื่อมลงก็เกิดจากอายุเช่นเดียวกัน PRP ก็อาจจะทำให้รังไข่ย้อนวัยลงไปได้

จากงานวิจัยพบว่า การฉีด PRP  เข้าไปในรังไข่อาจทำให้จำนวนไข่ตั้งต้นเพิ่มขึ้น เพิ่มระดับฮอร์โมน AMH ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สะท้อนถึงจำนวนไข่ที่มีอยู่ เพิ่มจำนวนไข่ที่เก็บได้ รวมไปถึงคุณภาพตัวอ่อนดีขึ้น ซึ่งก็น่าจะทำให้โอกาสการตั้งครรภ์เพิ่มขึ้น ผลของ PRP นี้มีการศึกษาทั้งในคนไข้ที่เคยกระตุ้นไข่แล้วได้ไข่น้อย และคนไข้ที่รังไข่เสื่อมก่อนวัย (premature ovarian insufficiency; POI, POF) แม้ว่าจำนวนคนไช้จะไม่มากแต่การศึกษาทั้งหมดไปในแนวทางเดียวกันว่าทำให้จำนวน คุณภาพ และอัตราการตั้งครรภ์เพิ่มขึ้น โดยไม่มีความเสี่ยง เนื่องจากเป็นเซลล์ของคนไข้เองจึงน่าจะมีความปลอดภัย ดูเป็นอะไรทีน่าสนใจ

นอกจากนี้มีคนเอา PRP มาฉีดในโพรงมดลูกเพื่อรักษาภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกบาง หรือย้ายตัวอ่อนแล้วไม่ติดมาก่อนหน้าสักพักแล้ว ผลการรักษาก็พอใช้ได้ หรือเอามาใส่ในโพรงมดลูกหลังจากการผ่าตัดพังผืดในโพรงมดลูก (intrauterine adhesion, Asherman syndrome) ก็พบว่าได้ผลดีอีกด้วย

ปัจจุบันข้อมูลผลการรักษาด้วยการฉีด PRP ที่รังไข่เริ่มมีมากขึ้นเรื่อย ๆ เทคโนโลยีการเตรียม PRP ที่มีประสิทธิภาพก็เริ่มมีมากขึ้นเรื่อย ๆ หมอเลยเรียก PRP เทคนิคล่าสุดว่า PRP 3.0 สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่

PRP คืออะไร
PRP เหมาะกับใคร มีขั้นตอนอย่างไร

วีดีโอข้อมูลเกี่ยวกับ PRP 

วีดีโอรีวิวมีการรักษาอะไรบ้างเพื่อเพิ่มจำนวนไข่ในผู้ป่วยที่ไข่น้อย/รังไข่เสื่อม

วีดีโอหมอแนะนำเรื่องการฉีด PRP รังไข่ (ภาษาอังกฤษ)

วีดีโอสรุปข้อมูลผลการรักษาฟื้นฟูรังไข่ด้วยการฉีด PRP