นพ.พัฒน์ศมา วิจินศาสตร์วิจัย
วว.สูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา, วว.เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์,
ป.ผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช, MClinEmbryol,
EFOG-EBCOG., EFRM-ESHRE/EBCOG.
คนไข้กระตุ้นไข่ทำเด็กหลอดแก้ว (IVF/ICSI) จะต้องได้รับฮอร์โมนฉีดกระตุ้นไข่ ซึ่งเป็นฮอร์โมน gonadotropins (ได้แก่ ฮอร์โมน FSH และ LH) ซึ่งในท้องตลาดมีหลายยี่ห้อ ทั้งที่สกัดจากปัสสาวะ (Urinary; Menopur®, IVF-M®) และสังเคราะห์จากเซลล์ที่มีการตัดต่อยีนเพื่อให้สร้างฮอร์โมนชนิดนั้น ๆ ออกมาเป็นจำนวนมาก (Recombinant; Gonal-F®, Puregon®, Pergoveris®, Follitrope®, Elonva®, Rekovelle®) แต่ละชนิดมีความแตกต่างอย่างไร ใครเหมาะกับฮอร์โมนชนิดไหน มาดูกัน
อันดับแรกต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่าเวลาเราวัดขนาดไข่จากอัลตราซาวดน์เป็นการวัดขนาดของถุงไข่ (follicle) ซึ่งไม่ใช่ขนาดของเซลล์ไข่นะครับ แต่เป็นขนาดถุงน้ำที่อยู่รอบ ๆ เซลล์ไข่ ซึ่งบ่งบอกสารน้ำทีั่เซลล์พี่เลี้ยงของเซลล์ไข่ (cumulus cells) สร้างออกมาต่างหาก ดังนั้นไม่ได้แปลว่าถุงไข่โต ภายในนั้นจะมีเซลล์ไข่เสมอไป หากเป็นการวัดโดยอนุมานเท่านั้น (รูปภาพที่ 1)
รูปภาพที่ 1 แสดงการวัดถุงไข่จากอัลตราซาวดน์และถุงไข่ในรังไข่เทียบกับเซลล์ไข่ภายใน
ถุงไข่ (ovarian follicles) แบ่งง่าย ๆ เป็น 2 ประเภท ได้แก่ ุุถุงไข่ที่ยังไม่ตื่นขึ้นมาทำงาน (inactivated follicle; primordial follicles, primary follicles) และถุงไข่ที่เริ่มตื่นขึ้นมาทำงาน (activated follicles) โดยแบ่งเป็นระยะที่ไม่สามารถเห็นได้จากอัลตราซาวดน์ (secondary follicles, preantral follicles) และระยะที่สามารถเห็นได้จากอัลตราซาวดน์ (antral follicles, preovulatory follicles, graffian follicle) นอกจากนี้อาจแบ่งเป็นถุงไข่ที่ไม่ตอบสนองต่อฮอร์โมน (gonadotropin-independent follicles) ได้แก่ ระยะที่ไม่เห็นจากอัลตราซาวดน์ลงไปทั้หมด และถุงไข่ที่ตอบสนองต่อฮอร์โมน (gonadotropin-dependent follicles)
ฮอร์โมนที่ว่านี้คือฮอร์โมน FSH และ LH ที่สร้างมาจากต่อมใต้สมอง (pituitary gland) โดยระยะแรกเป็นผลจากฮอร์โมน LH ไปกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนเพศและทำให้เซลล์ในถุงไข่สร้างตัวรับฮอร์โมน FSH จำนวนเพิ่มมากขึ้นและมีความไวมากขึ้น ่ต่อมาระดับฮอร์โมน FSH จะค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้นกระตุ้นให้ฮอร์โมน estradiol เพิ่มขึ้น จำนวนเซลล์พี่เลี้ยงเพิ่่มขึี้น จนระดับ estradiol สูงมากและนานพอ จะกระตุ้นให้ต่อมใต้สมองสร้างฮอร์โมน LH สูงขึ้นมากเกิด LH surg ไปกระตุ้นให้ไข่ตกในที่สุด (รูปภาพที่ 2) สรุปคือการเจริญพัฒนาของถุงไข่ในการทำเด็กหลอดแก้วอาศัยเพียงฮอร์โมน FSH และ LH นั้่นเอง (รูปภาพที่ 3) โดยหลัก ๆ อาศัยฮอร์โมน FSH อย่างเดียวร่วมกับ LH ที่สร้างจา่กต่อมใต้สมองของตนเองก็มักเพียงพอกระตุ้นให้ถุงไข่โตเพิ่มขึ้นในรอบทำ IVF/ICSI แล้ว
รูปภาพที่ 2 แสดงการเจริญพัฒนาของถุงไข่จากฮอร์โมน FSH และ LH จากต่อมใต้สมอง
รูปภาพที่ 3 สรุปการกระตุ้นไ่่ข่ใช้เพียงฮอร์โมน FSH และ LH
จาก concept การโตของถุงไข่ที่หมอบอกไปก่อนหน้านี้ ฤทธิ์หลัก ๆ ที่เราจำเป็นต้องใช้ในการกระตุ้นไข่คือ ฤทธิ์ของฮอร์โมน FSH โดยแหล่งที่มาของฮอร์โมนกระตุ้นไข่นั้นได้มาจากทีั้งสกัดจากปัสสาวะสตรีวัยทอง เช่น Menopur®, IVF-M®, IVF-M HP®, และ IVF-C® ซึ่งเป็นกลุ่มยาที่มีในท้องตลาดก่อนหน้า จากปัญหาปัสสาวะบริจาคไม่เพียงพอเนื่องจากความนิยมในการทำเด็กหลอดแก้วแพร่หลายมากขึ้นทั่วโลก ทำให้มีการผลิตฮอร์โมนกระตุ้นไข่โดยใช้เทคโนโลยี recombinant คือ ตัดต่อยีนที่สร้างฮอร์โมน FSH หรือ LH ไปแทรกเข้าใน DNA ของเซลล์พี่เลี้ยงและกระตุ้นให้มีการสร้างฮอร์โมนออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ได้ฮอร์โมนที่ขนาดคงที่และบริสุทธิ์ โดยเซลล์พี่เลี้ยงแตกต่างกันไป การแทรกของยีนที่สร้างฮอร์โมน FSH แตกต่างกันไป เช่น Chinese hamster ovary cell line ใน Puregon®, Gonal-F®, Follitrope®, Pergoveris® หรือ Fetal retinal cell line ใน Rikovelle® ดังรูปภาพที่ 4
รูปภาพที่ 4 แสดงแหล่งการผลิตของฮอร์โมนกระตุ้นไข่แบรนด์ต่าง ๆ
ทีนี้เรามีฮอร์โมนที่มาจากหลายแหล่ง แ้ล่วจะทราบหรือเปรียบเทียบได้อย่างไรว่าฮอร์โมนนี้ขนาดเท่าไหร่ ออกฤทธิ์เท่าไหร่ เดิมจึงมีการคิดค้นวิธีการเทียบฤทธิ์ FSH ที่ยอมรับกันทั่วไป (ที่เราเรียกว่า Unit; IU) ได้แก่ Steelman and Pohley assay ซึ่งทำโดยการฉีดยาที่ต้องการทดสอบไปในหนูทดลองแล้วเปรียบเทียบน้ำหนักรังไข่ทีเ่พิ่มขึ้น ปรากฎว่าวิธีนี้ทำให้ฮอร์โมนที่สกัดจากปัสสาวะมีฤทธิ์ต่อรังไข่หนูน้อยกว่าฤทธิ์ที่มีในมนุษย์จริง ทำให้ปัจจุบันใช้การตรวจจากการทำงานของเซลล์ในห้องทดลองแทน ทำให้แม่นยำกว่า ดังนั้นฮอร์โมนกระตุ้นไข่ในปัจจุบันไม่ว่าจะยี่ห้ออะไรขนาดที่เป็น IU เท่ากันก็มีฤทธิ์ของ FSH เท่ากัน
แต่อย่างไรก็ตาม ยากระตุ้นไข่บางชนิดยังมีฤทธิ์ของฮอร์โมน LH ร่วมด้วย ได้แก่ Menopur®, IVF-M®, IVF-M HP®, และ Pergoveris® ดังแสดงในรูปภาพที่ 5
รูปภาพที่ 5 แสดงฤทธิ์ของยากระตุ้นไข่แบรนด์ต่าง ๆ
จากที่หมอบอกไปก่อนหน้าว่าคนกระตุ้นไข่ส่วนใหญ่ต้องการการทำงานของ FSH เพิ่มขึ้นก็เพียงพอทำให้ไข่โตและเป็นไข่สุกได้แล้ว แต่จะมีคนไข้บางประเภทที่ควรได้รับ LH ระหว่างกระตุ้นไข่ร่วมด้วยเพื่อให้ไข่มีคุณภาพดีขึ้น ได้แก่
มีความผิดปกติของการสร้างฮอร์โมน FSH, LH (hypogonadrotopic hypogonadism) ไม่ว่าความผิดปกติของการสร้าง GnRH จาก hypothalamus หรือความผิดปกติของต่อมใต้สมอง (pituitary)
พบว่ามีระดับฮอร์โมน LH ตำ่ระหว่างรอบกระตุ้นไข่
ถุงไข่เจริญเติบโตช้าเมื่อได้ FSH อย่างเดียว
อายุมากกว่า 38 ปี ขึ้นไป
คนไข้ไข่ไม่ตกเรื้อรังจาก polycystic ovary syndrome (PCOS) อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่่
คนไข้เหล่านี้แม้ในบางกรณีระดับฮอร์โมน LH จะไม่ต่ำ เช่น ผู้ที่อายุมากกว่า 38 ปีหรือคนไข้ PCOS แต่พบว่าโมเลกุลของฮอร์โมน LH ในคนไข้เหล่านี้อาจอยู่ในรูปแบบที่จับกับตัวรับฮอร์โมนได้ไม่ค่อยดี ทำให้ฮอร์โมน LH ของตัวเองไม่เพียงพอที่จะทำให้ถุงไ่ข่เจริญพัฒนาปกติ
ฮอร์โมนกระตุ้นไข่ทุกแบรนด์มีความแรงของฤทธิ์ FSH ใกล้เคียงกัน (หากเทียบด้วย unit) แต่ความแตกต่างก็คือการที่มีฤทธิ์ของฮอร์โมน LH ด้วย ซึ่งจำเป็นในผู้กระตุ้นไข่ในบางกรณีเพื่อให้ไข่มีการเจริญพัฒนาเป็นไข่สุกที่เหมาะสมที่สุด