นพ.พัฒน์ศมา วิจินศาสตร์วิจัย
วว.สูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา, วว.เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์,
ป.ผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช, MClinEmbryol,
EFOG-EBCOG., EFRM-ESHRE/EBCOG
18 ธค 2566.
Keywords: PCOS; anovulation; oligomenorrhea; infrequent menstruation; hirsutism; acne; hypothyroidism; infertility; ivf; icsi; iUI.
หมอเชื่อว่าคนไข้มีบุตรยากหลายคนต้องเคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น PCOS (polycystic ovary syndrome) ทั้งแบบงง ๆ ว่าทำไมไข่หนูไม่ค่อยตกไปได้ ทั้ง ๆ ที่ประจำเดือนก็มาทุกเดือน หรืออาจจะเคยไปอัลตราซาวนด์ตอนอายุ 20 ต้น ๆ แล้วหมอบอกว่าหนูมีถุงไข่เยอะ น่าจะเป็น PCOS หรืออาจจะเป็น PCOS จริง ๆ วันนี้มาดูกันว่าจริง ๆ แล้ว PCOS เป็นยังไงกันแน่
เกณฑ์การวินิจฉัย PCOS มีหลายเกณฑ์แต่อย่างไรก็ตาม เกณฑ์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายเป็นเกณฑ์ Rotterdam 2003 ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ European Society for Human Reproduction and Embryology (ESHRE) และ American Society for Reproductive Medicine (ASRM) ร่วมกันตั้งขึ้น ดังแสดงในรูปภาพที่ 1
รูปภาพที่ 1 แสดงเกณฑ์วินิจฉัย PCOS ตาม Rotterdam 2003
ทั้งนี้ต้องมีการตรวจหาสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้มีอาการเช่นเดียวกับ PCOS ได้ออกไปก่อน
รูปภาพที่ 2 สาเหตุอื่นที่มีอาการคล้าย PCOS
มีภาวะมากมายที่ทำให้มีอาการคล้าย PCOS ดังแสดงในรูปภาพที่ 2 ทั้่งนี้จำเป็นต้องมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อแยกสาเหตุและรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป โดยภาวะที่พบร่วมบ่อย ๆ ได้แก่
ธัยรอยด์ฮอร์โมนต่ำ (hypothyroidism) เคยผ่าตัดเอาต่อมธัยรอยด์ออก หรือเคยรักษาธัยรอยด์เป็นพิษด้วยการกลืนแร่
มีเนื้องอกต่อม pituitary ที่สร้าง prolactin (prolactinoma) ทำให้ฮอร์โมน prolactin สูง และไปกดการทำงานของ FSH และ LH ทำให้ไข่ไม่ตก อาจมีน้ำนมไหล คัดเต้านม
Congenital adrenal hyperplasia (CAH) ชนิดที่มีอาการตอนเป็นผู้ใหญ่แล้ว เป็นความผิดปกติแต่กำเนิดที่มีการบกพร่องของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์ฮอร์โมนเพศ ทำให้มีความผิดปกติในการสังเคราะห์ฮอร์โมนเพศหญิงและมีฮอร์โมนเพศชายคั่ง
น้ำหนักตัวน้อยเกินไป เช่น อาจเป็นโรค anorexia nervosa หรือ bulimia nervosa
ออกกำลังอย่างหนักมากเกินไป เช่น นักกีฬา นักเต้นบัลเล่ต์
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิด PCOS ที่แน่ชัด แต่มีสมมติฐานว่าเกิดจากภาวะอ้วนลงพุง ไขมันในช่องท้องทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้ต่อมใต้สมอง (pituitary) ทำงานผิดปกติ ถุงไข่ไม่สามารถเจริญจนเกิดการตกไข่ได้ ดังแสดงในรูปภาพที่ 3
รูปภาพที่ 3 แสดงกลไกการเกิด PCOS
การรักษา PCOS ขึ้นอยู่กับอาการและเป้าหมายในการมีบุตรของคนไข้ โดยมีหลักการดังแสดงในรูปภาพที่ 4
รูปภาพที่ 4 หลักการในการรักษาภาวะ PCOS
หลักการรักษา PCOS คือ ทำให้ไข่กลับมาตกตามปกติ หรืออย่างน้อยให้ประจำเดือนมาสม่ำเสมอ วิธีการรักษามีหลากหลายวิธีโดยอาจใช้หลายวิธีร่วมกันก็ได้
ลดน้ำหนัก โดยเฉพาะลดพุง โดยการคุมอาหาร ลดแป้งและน้ำตาล และออกกำลังกายเพิ่มขึ้น โดยเน้นให้น้ำหนักค่อย ๆ ลดลงอย่างช้า ๆ (ประมาณเดือนละ 0.5 kg) และคงน้ำหนักที่ลดแล้วไว้ โดยเป้าหมายคือ ลดน้ำหนักให้ได้อย่างน้อย 5% ของน้ำหนักปัจจุบันก็เพียงพอที่จะทำให้ไข่กลับมาตกเป็นปกติ
ทำให้ประจำเดือนมาสม่ำเสมอ เนื่องจาก PCOS ทำให้ไข่ไม่ตกเรื้อรังและเยื่อบุมดลูกได้รับการกระตุ้นจากฮอร์โมนเอสโตรเจนตลอดแต่ไม่มีโปรเจสโตเจนมาทำให้ผนังมดลูกลอกออกทั้งโพรงมดลูกเหมือนช่วงมีประจำเดือนปกติ ทำให้เพิ่มความเสี่ยงของเยื่อบุมดลูกหนาตัวผิดปกติและมะเร็งเยื่อบุมดลูก การให้ฮอร์โมนเพื่อให้ประจำเดือนมาสม่ำเสมอ เช่น ให้โปรเจสโตเจนเป็นรอบ ๆ หรือยาคุมกำเนิดกรณีที่ไม่ต้องการมีบุตรก็สามารถช่วยได้
ให้ยาที่ทำให้ร่างกายตอบสนองต่ออินสุลินได้ดีขึ้น เช่น metformin
ให้ยาเหนี่ยวนำให้เกิดการเจริญของถุงไข่และตกไข่ เช่น clomiphene citrate หรือ letrozole ในกรณีที่ผู้ป่วยต้องการมีบุตร ทั้งนี้ อาจรักษาร่วมกับการฉีดเชื้อผสมเทียม (intrauterine insemiantion; IUI) ก็ได้
การทำเด็กหลอดแก้ว