นพ.พัฒน์ศมา วิจินศาสตร์วิจัย
วว.สูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา, วว.เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์,
ป.ผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช, MClinEmbryol,
EFOG-EBCOG., EFRM-ESHRE/EBCOG.
การใช้เซลล์สืบพันธุ์บริจาคและตัวอ่อนบริจาคนับว่าเป็นทางเลือกในการรักษาภาวะมีบุตรยากอย่างหนึ่งที่ช่วยให้หลายครอบครัวสำเร็จได้เลยนะครับ แต่อย่างไรก็ตามเราก็มีกฎหมายที่ควบคุม และประกาศที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ เลยนะครับ ได้แก่
พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558
ประกาศและข้อบังคับของแพทยสภา
ประกาศแพทยสภา ที่ 95(1)/2558: เรื่อง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์
ประกาศแพทยสภา ที่ 95(2)/2558: เรื่อง มาตรฐานในการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์
ประกาศแพทยสภา ที่ 95(3)/2558: เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขสำหรับการตรวจและประเมินความพร้อมทางด้านร่างกาย จิตใจ และสภาพแวดล้อมของผู้ขอรับบริการ หญิงที่รับตั้งครรภ์แทน และผู้บริจาคอสุจิหรือไข่
ประกาศแพทยสภา ที่ 95(4)/2558: เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการสร้าง การเก็บรักษา การใช้ประโยชน์จากตัวอ่อน หรือการทำให้สิ้นสภาพของตัวอ่อน
ประกาศแพทยสภา ที่ 95(5)/2558: เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ในการตรวจวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรมในตัวอ่อน (มีฉบับแก้ไขเพิ่มเติม)
ประกาศแพทยสภา ที่ 95(6)/2558: เรื่อง มาตรฐานการให้บริการเกี่ยวกับการผสมเทียม
ประกาศแพทยสภา ที่ 95(7)/2558: เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้ความยินยอมเป็นหนังสือจากสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ประสงค์ให้มีการผสมเทียมโดยใช้อสุจิของผู้บริจาค
ประกาศแพทยสภา ที่ 95(9)/2558: เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการรับฝาก การรับบริจาค การใช้ประโยชน์จากอสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อนที่รับฝาก หรือรับบริจาค หรือการทำให้สิ้นสภาพของตัวอ่อนที่รับฝากหรือรับบริจาคเนื่องมาจากการดำเนินการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์
ประกาศแพทยสภา ที่ 95 (10)/2558 เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการให้ความยินยอมให้นำอสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อนของผู้ฝากนำไปใช้ได้หลังจากผู้ฝากตาย
จะพิจารณาใช้ไข่บริจาคเมื่อ คู่สมรสฝ่ายหญิง มีภาวะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้:
ภาวะรังไข่ล้มเหลว (Ovarian Failure)
รังไข่หยุดทำงานก่อนวัยอันควร (Premature Ovarian Failure)
ไม่มีรังไข่มาแต่กำเนิด
เคยได้รับการผ่าตัดนำรังไข่ออกไปทั้งสองข้าง
รังไข่ฝ่อจากการได้รับเคมีบำบัด หรือการฉายรังสีบริเวณอุ้งเชิงกราน
คุณภาพของไข่ไม่ดีอย่างชัดเจน
คู่สมรสฝ่ายหญิงมีอายุมาก ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพของเซลล์ไข่
เคยผ่านการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF/ICSI) มาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ โดยมีสาเหตุมาจากคุณภาพของไข่หรือตัวอ่อนที่ไม่ดี
มีความเสี่ยงในการถ่ายทอดโรคทางพันธุกรรม
ฝ่ายหญิงเป็นพาหะหรือเป็นโรคทางพันธุกรรมที่รุนแรง และมีความเสี่ยงสูงที่จะถ่ายทอดความผิดปกตินั้นไปสู่บุตร
อายุ: ระหว่าง 20-35 ปี (หากเป็นญาติสืบสายโลหิตของผู้รับบริจาค สามารถมีอายุได้ถึง 40 ปี แต่ต้องไม่ใช่บุพการีหรือผู้สืบสันดาน)
สถานภาพ: ต้องมีหรือเคยมีสามีที่ชอบด้วยกฎหมาย (ยกเว้นกรณีเป็นญาติ) และต้องได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากสามี
สัญชาติ: ต้องมีสัญชาติเดียวกับคู่สมรสผู้รับบริจาค
สุขภาพ: ต้องผ่านการตรวจประเมินสุขภาพกายและสุขภาพจิต และไม่เป็นโรคติดต่อร้ายแรงหรือโรคทางพันธุกรรม
ข้อจำกัด: บริจาคไข่ได้ไม่เกิน 3 ครั้งในชีวิต
ต้องเป็นภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย
ในหนึ่งรอบการรักษา สามารถใช้ไข่จากผู้บริจาคได้เพียง 1 คนเท่านั้น
เป็นการนำอสุจิจากผู้บริจาคมาใช้ผสมกับไข่ของภรรยาผู้รับบริจาค ไม่ว่าจะด้วยวิธีการผสมเทียม (IUI) หรือการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF/ICSI)
จะพิจารณาใช้เชื้ออสุจิบริจาคเมื่อ คู่สมรสฝ่ายชาย มีภาวะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้:
เป็นหมันโดยไม่มีตัวอสุจิเลย (Azoospermia)
ไม่สามารถผลิตตัวอสุจิได้จากลูกอัณฑะ (Non-obstructive Azoospermia)
ไม่สามารถนำตัวอสุจิออกมาได้ แม้จะใช้วิธีการผ่าตัดหาเชื้ออสุจิจากอัณฑะโดยตรงแล้วก็ตาม (เช่น การทำ TESE/PESA แล้วไม่พบเชื้อ)
มีปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพอสุจิอย่างรุนแรง
มีจำนวนอสุจิน้อยมาก หรือตัวอสุจิมีความผิดปกติอย่างรุนแรงทั้งรูปร่างและการเคลื่อนไหว จนไม่สามารถปฏิสนธิได้ แม้จะใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ขั้นสูงอย่างอิ๊กซี่ (ICSI) แล้วก็ตาม
มีความเสี่ยงในการถ่ายทอดโรคทางพันธุกรรม
ฝ่ายชายเป็นพาหะหรือเป็นโรคทางพันธุกรรมที่รุนแรง และมีความเสี่ยงสูงที่จะถ่ายทอดไปสู่บุตร
ปัญหาอื่นๆ
มีปัญหาเกี่ยวกับการหลั่งน้ำเชื้อที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้
ฝ่ายชายมีการติดเชื้อบางชนิดที่ไม่สามารถป้องกันการถ่ายทอดสู่ลูกได้ด้วยเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน
อายุ: ระหว่าง 20-45 ปี
สถานะ: หากมีภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากภรรยา
สัญชาติ: มีสัญชาติเดียวกับคู่สมรสผู้รับบริจาค
สุขภาพ: ต้องผ่านการตรวจประเมินสุขภาพกายและสุขภาพจิต และไม่เป็นโรคติดต่อร้ายแรงหรือโรคทางพันธุกรรม
ข้อห้าม: ห้ามเป็นญาติสืบสายโลหิตของฝ่ายภรรยาผู้รับบริจาค
ข้อจำกัด: การบริจาคที่นำไปสู่การเกิดของเด็กต้องไม่เกิน 10 ครอบครัว เพื่อลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากสายเลือดเดียวกันในอนาคต
ต้องเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย
คือการรับตัวอ่อนที่เหลือจากการทำเด็กหลอดแก้วของคู่สมรสอื่นที่ยินยอมบริจาค
ต้องเป็นสามีภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย
ต้องให้ความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรในการบริจาค
ฝ่ายหญิงเจ้าของไข่ต้องมีอายุระหว่าง 20-35 ปี ณ ขณะที่มีการปฏิสนธิเป็นตัวอ่อน
สัญชาติของผู้บริจาคต้องเป็นสัญชาติเดียวกับผู้รับบริจาค
ต้องเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย
ต้องมีสัญชาติเดียวกับคู่ผู้บริจาคตัวอ่อน
ในหนึ่งรอบการรักษา สามารถใช้ตัวอ่อนจากผู้บริจาคเพียงคู่เดียวเท่านั้น
ห้ามการค้าโดยเด็ดขาด: กฎหมายไทย ห้ามการซื้อ ขาย เสนอซื้อ เสนอขาย นำเข้า หรือส่งออก ซึ่งไข่ อสุจิ และตัวอ่อน การบริจาคต้องเป็นไปโดยสมัครใจและไม่มีค่าตอบแทนในเชิงพาณิชย์ (อาจมีค่าใช้จ่ายตามจริง เช่น ค่าเดินทาง ให้แก่ผู้บริจาคได้ตามที่แพทยสภากำหนด)
สิทธิในความเป็นบิดามารดา: เด็กที่เกิดจากการใช้ไข่ อสุจิ หรือตัวอ่อนบริจาค จะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของคู่สมรสฝ่ายผู้รับบริจาคแต่เพียงผู้เดียว
ผู้บริจาคไม่มีสิทธิและหน้าที่: ผู้บริจาคไข่ อสุจิ หรือตัวอ่อน จะไม่มีสิทธิและหน้าที่ใดๆ ตามกฎหมายต่อเด็กที่เกิดมา เช่น สิทธิในการรับมรดก หรือหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดู