นพ.พัฒน์ศมา วิจินศาสตร์วิจัย
วว.สูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา, วว.เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์,
ป.ผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช, MClinEmbryol,
EFOG-EBCOG., EFRM-ESHRE/EBCOG.
จากบทความที่แล้วที่หมอสรุปเอาเนื้อ ๆ จาก พรบ. คุ้มครองเด็กฯ 2558 ไปแล้ว เช่นเดียวกับกฎหมายหลักทั่วไปที่จะต้องมีกฎหมายลูก อนุบัญญัติ ฯลฯ ออกมาเพื่อขยายความ นิยาม รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่สามารถบรรจุลงไปใน พรบ. หลักได้ ทราบไหมว่าปัจจุบัน พรบ. คุ้มครองเด็ก ฯ พ.ศ. 2558 มีประกาศที่เกี่ยวข้องจากทั้งกระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการคุัมครองเด็กฯ แพทยสภาและสำนักทะเบียนกลาง รวมกันถึง 23 ฉบับเลยทีเดียว
การตั้งครรภ์แทนทำได้โดยการเตรียมผนังมดลูกในผู้ที่จะมาตั้งครรภ์แทนเหมือนกับที่เราจะย้ายตัวอ่อนนั่นแหละครับ พูดง่าย ๆ ก็คือ เหมือนเราไปยืมมดลูกเค้ามาท้องประมาณนั้น ส่วนขั้นตอนทางกฎหมายเดี๋ยวเรามาเรียนรู้ในบทความนี้กัน
อันดับแรกเรามาดูกันว่าประกาศที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์แทน นอกเหนือจากตัวพรบ. หลัก พบว่ามีทั้งหมดถึง 8 ฉบับ ได้แก่
พรบ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้หญิงอื่นที่มิใช่ญาติสืบสายโลหิตของสามีหรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายรับตั้งครรภ์แทน พ.ศ. 2558
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับข้อตกลงการตั้งครรภ์แทนและค่าใช้จ่ายในการบํารุงรักษาสุขภาพของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนในขณะตั้งครรภ์ การยุติการตั้งครรภ์แทน การคลอด และหลังคลอด รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพของเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทน หลังคลอดเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามสิบวัน พ.ศ. 2558
ประกาศ กคทพ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตและการอนุญาตให้ผู้ให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ดําเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทน พ.ศ. 2558
ประกาศ กคทพ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตและการอนุญาตให้ผู้ให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562
ประกาศ กคทพ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุญาตและการอนุญาตให้ผู้ให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2566
ประกาศแพทยสภา เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขสําหรับการตรวจและประเมินความพร้อมทางด้านร่างกาย จิตใจ และสภาพแวดล้อมของผู้ขอรับบริการ หญิงที่รับตั้งครรภ์แทน และผู้บริจาคอสุจิหรือไข่ ที่จะนํามาใช้ดําเนินการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558
ประกาศแพทยสภา เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์แทน พ.ศ. 2558
ประกาศสำนักทะเบียนกลางเรื่อง หลักเกณฑ์วิธีกร และเงื่อนไขการแจ้งการเกิดของเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558
และในบทความนี้หมอจะใส่หมายเลขอ้างอิงไว้ว่าข้อกำหนดเหล่านี้มาจากประกาศอะไรหรือมาจาก พรบ. โดยใช้เลขตามลำดับเอกสารข้างบนนี้เช่นกันนะครับจะได้หาที่มาที่ไปได้
ผู้ขออนุญาตใช้การตั้งครรภ์แทนได้มีคุณสมบัติดังนี้
เป็นคู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมาย (มีทะเบียนสมรส)
อย่างน้อยสามีหรือภรรยาต้องมีสัญชาติไทย (กรณีที่สามีหรือภรรยาไม่ใช่สัญชาติไทย ต้องจดทะเบียนสมรสมาแล้วอย่างน้อย 3 ปี จึงสามารถขออนุญาตใช้การตั้งครรภ์แทนได้)
ภรรยาอายุไม่เกิน 55 ปี ณ วันที่ยื่นเอกสารครบถ้วน
รูปภาพที่ 1 แสดงคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ที่มีสิทธิขอใ่ช้การตั้งครรภ์แทน
สำหรับข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ในการใช้การตั้งครรภ์แทนดังแสดงในรูปภาพที่ 2
รูปภาพที่ 2 ข้อบ่งชี้ทางการแพทย์สำหรับการตั้งครรภ์แทน
โดยทั่วไปตามกฎหมายแนะนำให้ใช้ญาติสืบสายโลหิตของคู่สมรสก่อนแต่ต้องไม่เป็นแม่ของคู่สมรสหรือบุตรสาวของคู่สมรส อายุระหว่าง 20-40 ปี ผ่าคลอดไม่เกิน 1 ท้องหรือคลอดธรรมชาติไม่เกิน 3 ท้อง (รูปภาพที่ 3)
กรณีที่ไม่มีญาติผู้หญิงที่มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะมาตั้งครรภ์แทนให้ได้ ไม่ต้องตกใจนะครับสามารถหาใครก็ได้เี่เค้ายอมมาตั้งครรภ์แทนให้เราอะ คุณสมบัติก็คล้าย ๆ กันกับญาติสืบสายโลหิตเลย (รูปภาพที่ 3)
รูปภาพที่ 3 คุณสมบัติของหญิงผู้ตั้งครรภ์แทน
ตัวอ่อนอาจจะมาจากไข่และอสุจิของคู่สมรสเอง ตัวอ่อนบริจาค ไข่บริจาคหรืออสุจิบริจาคก็ได้ แต่ไม่สามารถใช้ไข่จากผู้ตั้งครรภ์แทนนะ
รูปภาพที่ 4 แสดงที่มาของตัวอ่อนที่นำมาย้ายกลับในการตั้งครรภ์แทน
การตั้งครรภ์แทนมีขั้นตอนต่อไปนี้
แพทย์ผู้ดูแลและสถานพยาบาลพิจารณามีข้อบ่งชี้ในการใช้การตั้งครรภ์แทน
ตรวจสุขภาพกาย จิตใจและสภาพแวดล้อมของผู้ที่จะตั้งครรภ์แทน
ยื่นขออนุญาตต่อคณะกรรมการจริยธรรมของสถานพยาบาลพิจารณา
ยื่นขออนุญาตต่อคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ กรมส่งเสริมบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (กคทพ.)
หลังจากคณะกรรมการ กคทพ. อนุมัติให้มีการตั้งครรภ์แทนได้ จะมีเอกสารอนุมัติส่งมาให้สถานพยาบาล (ซึ่งเอกสารนี้ใช้สำหรับการแจ้งเกิดลูกด้วย) จึงเริ่มเตรียมผนังมดลูกเพื่อย้ายตัวอ่อนได้
ระยะเวลาทั้งหมดประมาณ 4-6 เดือน ครับ
หมายเหตุ การอนุมัติให้มีการตั้งครรภ์แทน เป็นการอนุมัติจำเพาะกับคู่สมรส หญิงที่จะตั้งครรภ์แทน และสถานพยาบาล หมายความว่าถ้ามีการเปลี่ยนตัวของคนใดคนหนึ่ง เช่น เปลี่ยนสถานพยาบาล เปลี่ยนผู้จะตั้งครรภ์แทน ต้องเตรียมเอกสารเพื่อขออนุมัติจาก กคทพ.ใหม่
การตั้งครรภ์แทนก็เหมือนกับเราฝากลูกเราให้คนอื่นเลี้ยง ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความเอื้อเฟื้อต่อกันและกันมีความสำคัญมาก ตามกฎหมายคู่สมรสมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับผู้ตั้งครรภ์แทนดังต่อไปนี้ (รูปภาพที่ 5)
ค่าใช้จ่ายในการบํารุงรักษาสุขภาพของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนในขณะตั้งครรภ์: ฝากครรภ์, ตรวจวินิจฉัยทารกในครรภ์, ตรวจพันธุกรรมของทารกก่อนคลอด, วัคซีน ฯลฯ
การเจ็บป่วยระหว่างการตั้งครรภ์
การยุติการตั้งครรภ์
การคลอด
ทารกที่เกิดมา
ค่าใช้จ่ายหลังคลอดอย่างน้อย 30 วัน
รูปภาพที่ 5 แสดงความรับผิดชอบของคู่สมรสต่อผู้ตั้งครรภ์แทน
ผู้ที่ตั้งครรภ์แทนก็ต้องมีความรับผิดชอบเช่นกัน ได้แก่ (รูปภาพที่ 6)
ทำความเข้าใจกับลูกของตัวเองให้เข้าใจการตั้งครรภ์แทน
ดูแลรักษาสุขภาพตามปกติ (ในประกาศใช้คำว่า อย่างที่วิญญูชนพึงมี)
นอกจากนี้กรณีโชคไม่ดี คู่สมรสเกิดเสียชีวิตทั้งคู่ก่อนที่เด็กจะคลอดออกมา ผู้ที่ตั้งครรภ์แทนต้องเป็นผู้รับผิดชอบเด็กไปก่อนจนกว่าจะมีคำสั่งศาลต่อไป
รูปภาพที่ 6 ความรับผิดชอบของผู้ตั้งครรภ์แทน
งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา การตั้งครรภ์แทนบางครั้งอาจไม่ได้จบที่การคลอดเสมอไป กรณีที่สามารถยุติการตั้งครรภ์ในการตั้งครรภ์แทน ได้แก่
ปัญหาต่อสุขภาพกายหรือจิตของผู้ตั้งครรภ์แทนอย่างรุนแรง
ทารกในครรภ์มีความเสี่ยงสูงที่จะมีความพิการหรือเป็นโรคพันธุกรรมอย่างรุนแรง
รูปภาพที่ 7 แสดงข้อบ่งชี้ในการยุติการตั้งครรภ์แทน
การตั้งครรภ์แทนช่วยให้ผู้มีบุตรยากสามารถประสบความสำเร็จในการมีลูกได้ง่ายขึ้นในภาวะหลายอย่าง นอกจากนี้หากไม่ได้ทำตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดอาจได้รับผลกระทบเป็นการลงโทษไม่ว่าจะเป็นการจำคุกหรือถูกปรับ แต่ก็มีข้อดีคือเด็กที่เกิดมาเป็นลูกตามกฎหมายของคู่สมรสเหมือนคลอดออกมาเองทุกประการ