นพ.พัฒน์ศมา วิจินศาสตร์วิจัย
วว.สูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา, วว.เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์,
ป.ผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช, MClinEmbryol,
EFOG-EBCOG., EFRM-ESHRE/EBCOG.
การที่คนไข้มีบุตรยากจะประสบความสำเร็จมีลูกได้สมปรารถนานั้น จริง ๆ แล้วอาศัยปัจจัย 3 ข้อ ได้แก่
มดลูกปกติ ซึ่งต้องปกติทั้งโครงสร้างอันประกอบไปด้วยรูปร่างโพรงมดลูกและกล้ามเนื้อมดลูกที่โอบอุ้มโพรงมดลูกโดยรอบ และการทำงานของผนังมดลูกที่พร้อมรับตัวอ่อน (receptive endometrium)
ตัวอ่อนปกติ ซึ่งในที่นี่หมายถึงทั้งโครโมโซมอันเปรียบเสมือนต้นฉบับแบบแผนการทำงานของร่างกายทั้งหมดต้องปกติและการทำงานของยีนต่าง ๆ ตามลำดับการสร้างอวัยวะต่าง ๆ อย่างเหมาะสมอีกด้วย
ปฏิสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกต้องปกติ กล่าวคือ แม่ต้องไม่สร้างภูมิคุ้มกันใด ๆ ไปทำลายเซลล์ของเด็กและเด็กก็ไม่สร้างสารอะไรแปลก ๆ ไปกระตุ้นให้แม่เกิดปฏิกิริยาผิดปกติใด ๆ กับร่างกายมารดา
อย่างไรก็ตามพบว่าการย้ายตัวอ่อนในแต่ละรอบการรักษา แม้ว่ามดลูกปกติ ตัวอ่อนปกติ กลับพบว่าโอกาสสำเร็จตั้งครรภ์สมหวังมีประมาณร้อยละ 50-80 เท่านั้น แสดงว่ายังมีอีกหลายปัจจัยที่เรายังไม่ได้ตรวจหรืออาจยังไม่ทราบว่ามีความเกี่ยวข้องกับการฝังตัวของตัวอ่อน
ในรอบเดือนปกติ หลังจากมีประจำเดือนมา ถุงไข่เด่นในรอบเดือนนั้นจะสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนมาเพื่อกระตุ้นให้เกิดการหนาตัวของเยื่อบุมดลูก (endometrial proliferation) จนกระทั้งไข่่ตกถุงไข่ที่ตกไปแล้ว (corpus luteum) จะเปลี่ยนมาสร้าง ฮอร์โมน progesterone เพิ่มขึ้นอย่างมากเพื่อเปลี่ยนให้ผนังมดลูกเป็นระยะ secretory (secretory phase) มีการสร้างสารคัดหลั่งต่าง ๆ เพื่อเตรียมผนังมดลูกให้พร้อมต่อการรับตัวอ่อน
ช่วงเวลาที่ผนังมดลูกพร้อมรับการฝังตัวของตัวอ่อน เรียกว่า Window of Implantation (WOI) ซึ่งโดยทั่วไปมักเกิดระหว่างวันที่ 19-21 ของรอบเดือน ดังแสดงในรูปภาพที่ 1
รูปภาพที่ 1 แสดง Window of Implantation (WOI) ในรอบเดือนปกติและความผิดปกติของ WOI เช่นการที่ WOI เกิดขึ้นเร็ว เกิดขึ้นช้า หรือช่วง WOI สั้นกว่าปกติ (ที่มา: https://intilabs.com)
โดยทั่วไปเวลาเราย้ายตัวอ่อนเราก็จะกะช่วงเวลาที่จะนัดคนไข้มาย้ายตัวอ่อนก็แถว ๆ วันที่ 19-21 ของรอบเดือน หรือวันที่ 5-ุ6 หลังจากไข่ตก (หรือเก็บไข่) หรือวันที่ 5-6 หลังจากเริ่มสอด progesterone ทางช่องคลอด หรือวันที่ 7 หลังจากตรวจฮอร์โมนไข่ตก LH ขึ้นจากปัสสาวะ และ WOI จะเปิดอยู่เป็นระยะเวลา 30-36 ่ชั่วโมง แต่อย่างไรก็ตามพบว่ามีผู้หญิงถึงร้อยละ 30 ที่มี WOI ผิดปกติ โดยความผิดปกติที่พบ ดังแสดงในรูปภาพที่ 1 ได้แก่
WOI มาเร็วเกินไป (early implantation window) เช่น มาตั้งแต่วันที่ 16 ของรอบเดือนแทนที่จะเริ่มวันที่ 19
WOI มาช้าเกินไป (delayed implantation window) เช่น หมอเคยเจอคนไข้เริ่มมี WOI วันที่ 22 ของรอบเดือน ซึ่งถ้าไม่ตรวจ endometrial receptivity test รับรองว่าไม่มีหมอ IVF คนไหนในโลกกล้าย้ายตัวอ่อนวันที่ 22 ของรอบเดือนแน่ ๆ รายนี้ลูกก็น่าจะ 3 ขวบแล้ว
WOI สั้นเกินไป (shortened implantation window) เช่น WOI มีระยะเวลาเพียง 1-2 วันจากปกติที่ควรมี 3 วัน
นอกจากนี้ พยาธิสภาพบางอย่างของมดลูกและโพรงมดลูกอาจทำให้ WOI ผิิดปกติไป เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบเรื้อรัง (chronic endometritis) ซึ่งพบได้บ่อยในผู้มีบุตรยาก หรือมดลูกวิรูป เนื้องอกมดลูกที่เบียดเข้าโพรงมดลูก ติ่งเนื้อในโพรงมดลูก เป็นต้น
การตรวจหา WOI ทำได้โดยการดูการทำงานของยีนที่เยื่อบุมดลูกที่เกี่ยวข้องกับการฝังตัวของตัวอ่อนในช่วงเวลาที่เราย้ายตัวอ่อนโดยมียีนที่เกี่ยวข้องอยู่หลายร้อยตัวและเปรียบเทียบกับการทำงานของยีนในช่วง WOI ของคนปกติ การรายงานผลการตรวจดังแสดงในรูปภาพที่ 2
รูปภาพที่ 2 แสดงการรายงานผลของการตรวจ endometrial receptivity test แุถวบนบ่งบอกว่าเยื่อบุมดลูกของคนไข้อยู่ในสถานะที่รับตัวอ่อนได้ (receptive) หรือก่อนระยะรับตัวอ่อน (pre-receptive) หรือเลยระยะรับตัวอ่อนไปแล้ว (post-receptive) โดยสามเหลี่ยมหัวกลับบ่งบอกสถานะของผนังมดลูกคนไข้ ส่วนแถวล่างเป็นข้อมูลชั่วโมงที่ผนังมดลูกของคนไข้รับตัวอ่อนหลังจากสอดยา กรณีย้ายตัวอ่อนระยะ day 5 (blastocyst)
วิธีการตรวจเพื่อหา WOI มีหลายเทคนิคในท้องตลาด หมอขอแบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้
โดยปกติการตรวจว่ายีนทำงานหรือไม่ต้องเอาชิ้นเนื้อบริเวณที่ต้องการหาการทำงานของยีนไปตรวจ ERA อาศัยหลักการเดียวกัน ก่อนตรวจจะต้องมีการเตรียมผนังมดลูกเสมือนจะย้ายตัวอ่อน หลังจากที่เริ่่มใช้ฮอร์โมน progesterone สอดช่องคลอด 5-6 วันก็เข้ามาเก็บเยื่อบุโพรงมดลูกไปตรวจ ดังแสดงในรูปภาพที่ 3
รูปภาพที่ 3 แสดงขั้นตอนการตรวจและรายงานผล endometrial receptivity analysis (ERA) (ที่มา: https://www.igenomix.net/our-services/era-patients/)
เทคโนโลยีที่ใช้ในการตรวจ ERA เน้นไปที่การดู mRNA ซึ่งผลิตมาจากยีนที่มีการทำงาน และนำข้อมูลยีนที่ทำงานไปประมวลผลผ่าน algorithm ในระบบ AI และรายงานผลต่อไป ในท้องตลาดเริ่มมีให้ตรวจหลายยี่ห้อ เช่น ERA® ใช้เทคโนโลยี NGS, MIRA™️ ใช้เทคโนโลยี microRNA เป็นต้น
ข้อเสียของเทคโนโลยีนี้คือต้องเตรียมผนังมดลูกฟรี ๆ ไปหนึ่งรอบเพื่อเก็บสิ่งส่งตรวจ การเก็บเยื่อบุมดลูกไปตรวจอาจทำให้เกิดอาการปวดหน่วงท้องน้อย รู้สึกไม่สบายได้ นอกจากนี้การเก็บสิ่งส่งตรวจมีโอกาสผิดพลาดได้ เช่น ปนเปื้อนเลือดมากเกินไปทำให้วิเคราะห์ไม่ได้ ปริมาณชิ้นเนื้อมากหรือน้อยเกินไปทำให้ไม่สามารถสกัด RNA ที่คุณภาพดีเพียงพอ เก็บชิ้นเนื้อไม่ได้ ทำให้มีโอกาสต้องเตรียมผนังมดลูกใหม่
จากการที่ต้องเก็บเยื่อบุมดลูกไปตรวจในวิธี ERA ซึ่งมีความเจ็บปวดและต้องเสียเวลาเตรียมผนังมดลูกโดยไม่ได้ย้ายตัวอ่อนอีก 1 รอบเดือน ทำให้มีการคิดหาวิธีการตรวจที่ไม่ต้องดูดผนังมดลูกไปตรวจ ปัจจุบันมีเทคโนโลยีการตรวจหา WOI จากเลือดโดยใช้เทคโนโลยีการตรวจวัด microRNA ในเลือด ซึ่ง microRNA โดยปกติจะทำหน้าที่เป็นตัวควบคุมการทำงานของยีนอีกทีหนึ่ง ทำให้การตรวจแบบนี้ไม่ต้องดูดเยื่อบุมดลูกไปตรวจ ใช้แค่การเจาะเลือด ทำให้สามารถตรวจในรอบกระตุ้นไข่แล้วเก็บเลือดไว้ก่อน หากย้ายตัวอ่อนแล้วไม่ท้องก็นำเอาเลือดที่เก็บไว้มาตรวจต่อไป (vault option) หรือจะเตรียมผนังมดลูกในรอบอื่นแล้วตรวจแบบ ERA ก็ได้ หากมีการเตรียมตรวจแลป vault option ก็จะทำให้เราได้ข้อมูลก่อนและเตรียมผนังมดลูกเพื่อย้ายตัวอ่อนได้เลยโดยไม่ต้องเสียเวลามาเตรียมผนังมดลูกต่างหากอีกรอบหนึ่ง ด้งแสดงในรูปภาพที่ 4
รูปภาพที่ 4 แสดงขั้นตอนการตรวจ noninvasive endometrial receptivity test A. Vault option เก็บตัวอย่างเลือดในรอบย้ายตัวอ่อนรอบแรก แต่ยังไม่ได้ตรวจเต็มขั้น หากย้ายรอบแรกแล้วไม่ติดสามารถเอาตัวอย่างเลือดเดิมไปตรวจได้เลย B. การเตรียมผนังสำหรับตรวจหา WOI ต่างหากแบบปกติ (ที่มา: https://intilabs.com/ora-clinic/)
คนไข้ส่วนใหญ่สามารถท้องจากการย้ายตัวอ่อนตามเวลาปกติโดยไม่ต้องตรวจ ERA การตรวจ ERA ในคนไ้ข้ทุกรายไม่ได้มีประโยชน์และไม่มีความจำเป็น โดยแนะนำให้ตรวจ ERA ในรายต่อไปนี้
มีประวัติย้ายตัวอ่อนแล้วไม่ฝังหรือประวัติแท้ง (่โดยตรวจหาสาเหตุอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับมดลูกแล้ว)
มีตัวอ่อนคุณภาพดีน้อย
น้ำหนักตัวน้อยหรือมากเกินไป
อายุ 35 ปีขึ้นไป
อย่างที่หมอกล่าวไปข้างต้นถึงโรค/พยาธิสภาพบางอย่างที่อาจนำมาซึ่งความผิดปกติผิดเพี้ยนของ WOI ได้ ดังนั้น ก่อนการตรวจหา WOI ต้องตรวจให้มั่นใจเสียก่อนว่าไม่มีัโรคดังต่อไปนี้ หรือถ้าพบว่ามีความผิดปกติต่อไปนี้ก็ควรรักษาให้เรียบร้อยก่อนสัก 2-3 เดือนแล้วค่อยมาตรวจ WOI โรค/พยาธิสภาพที่อาจมีผลต่อ WOI ได้แก่
เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ (endometriosis)
เยื่อบุมดลูกอักเสบเร้ื้อรัง (chronic endometritis)
ความผิดปกติแต่กำเนิดขอวมดลูก (congenital malformation of uterus) ทั้งมดลูกวิรูป (dysmorphic T-shaped uterus) และผนังกั้นช่องในโพรงมดลุก (septate uterus)พน
ติ่งเนื้อในโพรงมดลูก (endometrial polyp) ซึ่งภาวะนี้มีความสัมพันธ์ระหว่าง chronic endometritis และ congenital malformation of uterus
เนื้องอกมดลูกที่เบียดโพรง (submucous myoma)
การตรวจหา WOI จำเป็นเฉพาะในรายที่มีประวัติย้ายตัวอ่อนตรวจโครโมโซมปกติแล้วไม่ตั้งครรภ์ โดยหาและแก้ไขสาเหตุที่เกิดจากมดลูกแล้ว เช่น เนื้องอก ความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น มดลูกวิรูป โดยการตรวจในปัจจุบันสามารถเจาะเลือดตรวจได้ ทำให้มีความสะดวกมากขึ้น
ESHRE Add-ons working group, K Lundin, J G Bentzen, G Bozdag, T Ebner, J Harper, N Le Clef, A Moffett, S Norcross, N P Polyzos, S Rautakallio-Hokkanen, I Sfontouris, K Sermon, N Vermeulen, A Pinborg, Good practice recommendations on add-ons in reproductive medicine, Human Reproduction, Volume 38, Issue 11, November 2023, Pages 2062–2104, https://doi.org/10.1093/humrep/dead184