Dysmorphic Uterus 101
มดลูกวิรูปคืออะไร?
ใครมีอาการเข้าข่ายบ้าง?
นพ.พัฒน์ศมา วิจินศาสตร์วิจัย
วว.สูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา, วว.เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์,
ป.ผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช, MClinEmbryol,
EFOG-EBCOG., EFRM-ESHRE/EBCOG.
Update: 21 กย. 2566
มดลูกวิรูป (Dysmorphic uterus, T-shaped uterus) เป็นความผิดปกติแต่กำเนิดของมดลูกที่พบได้บ่อยในผู้ที่มีบุตรยากไทย หมอเคยเก็บข้อมูลวิจัยในคนไข้มีบุตรยากทุกรายที่มาเริ่มรักษาด้วยอัลตราซาวนด์สามมิติ (3D-TVUS) พบความชุกของมดลูกวิรูปสูงถึงร้อยละ 27 ในกลุ่มผู้ป่วยมีบุตรยาก และพบว่าความผิดปกติแต่กำเนิดของมดลูกเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะมีบุตรยากที่มีการวินิจฉัยผิดพลาดมากที่สุด (ทั้งที่ตรวจไม่พบความผิดปกติและพบแต่วินิจฉัยเป็นภาวะอื่น) แม้ว่าการรักษาจะทำได้ไม่ยากและผลการรักษาจะทำให้ผู้ป่วยท้องเองได้เกือบร้อยละ 50
มดลูกปกติเป็นอย่างไร
การประเมินมดลูกว่าปกติหรือผิดปกติอันดับแรกต้องเคลียร์กันเรื่องมุมที่เราจะใช้มองกันก่อน มดลูกโดยทั่วไปลักษณะเหมือนเนื้อแผ่นแบน ๆ 2 แผ่นประกบกันในแนวหน้า-หลัง (เรียกส่วนนี้ว่ากล้ามเนื้อมดลูก/myometrium) และโพรงมดลูกที่มีเยื่อบุมดลูก (endometrium) บุอยู่จะอยู่ระหว่างเนื้อแผ่น 2 แผ่นนี้ ดังแแสดงในรูปภาพที่ 1A
นอกจากนี้ในสตรีวัยเจริญพันธุ์ปกติ ความยาวของมดลูกจะยาวประมาณ 7 ซม.โดยตัวมดลูกยาวประมาณ 4-5 ซม. และปากมดลูกยาวประมาณ 2-3 ซม.หรือสัดส่วนตัวมดลูก: ปากมดลูก = 2:1 (รูปภาพที่ 1B)
รูปภาพที่ 1 A. แสดงชั้นของเนื้อเยื่อในตัวมดลูกซึ่งประกอบไปด้วยองค์ประกอบคร่าว ๆ 2 ส่วนคือเยื่อบุมดลูก (endometrium) และกล้ามเนื้อมดลูก (myometrium)
B. แสดงส่วนต่าง ๆ ของมดลูกอันเจริญพัฒนามาจากท่อ Müllerian ได้แก่ ปากมดลูก (cervix) ตัวมดลูก (corpus uteri) และท่อนำไข่ (fallopian tubes)
รูปภาพที่ 2 A. แสดงลักษณะมดลูกปกติ สังเกตโพรงมดลูก (บริเวณสีน้ำตาล) จะมีลักษณะเป็นเหมือนรูปสามเหลี่ยมหัวกลับ
B. แสดงลักษณะมดลูกวิรูป สังเกตโพรงมดลูกจะแคบกว่ามดลูกปกติลักษณะคล้ายอักษร T ในภาษาอังกฤษ ทั้งนี้เนื่องจากกล้ามเนื้อมดลูกบริเวณด้านข้างมีความหนาตัวผิดปกติทำให้บีบให้โพรงมดลูกแคบและเล็ก
ลักษณะสุดท้ายก็คือรูปร่างของโพรงมดลูกเมื่อมองแนวหน้าหลัง (midcoronal view) จะเป็นสามเหลี่ยมหัวกลับ (รูปภาพที่ 2A.) และกล้ามเนื้อมดลูกที่ขนาบโพรงมดลูกอยู่สามด้านจะมีความหนาใกล้เคียงกัน
มดลูกวิรูปมีลักษณะอย่างไร
มดลูกวิรูป (dysmorphic uterus) หรือมดลูกรูปตัว T (T-shaped uterus) เป็นความผิดปกติแต่กำเนิดของมดลูกอันเกิดมาจากการสร้างกล้ามเนื้อมดลูกที่ผิดปกติ มีชั้นที่กล้ามเนื้อลักษณะเป็นวงมากเกินไป ทำให้รัดโพรงมดลูกจนแคบลงมาเหมือนตัวอักษร T ในภาษาอังกฤษ (รูปภาพที่ 2B.)
มดลูกวิรูปมีอาการอย่างไร อาการแบบไหนจะเสี่ยง
คนไข้ที่เป็นมดลูกวิรูปถ้าไม่ต้องการมีลูกก็อาจจะไม่ได้มีโอกาสมาตรวจเจอเลยเนื่องจากมักไม่พบว่าปัญหาทางนรีเวชอื่น ๆ จะทำให้คนไข้มีความผิดปกติจนต้องมาตรวจ แต่เมื่อพิจารณาถึงการฝังตัวของตัวอ่อนและการตั้งครรภ์จะพบว่ามดลูกวิรูปทำให้โอกาสการฝังตัวของตัวอ่อนลดลงและการยืดขยายตัวของมดลูกเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ได้ลำบากมากขึ้น ดังนั้นหากมีอาการต่อไปนี้ควรเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการประเมิน
1. #ประจำเดือนออกน้อย ประจำเดือนมาสม่ำเสมอ แต่ปริมาณน้อย (วันมามากใช้ผ้าอนามัยไม่เกิน วันละ 3 แผ่น แถมไม่เต็มแผ่นซะด้วยสิ)
2. #แท้งบุตรในไตรมาสแรก ตั้งแต่เจอตัวเด็กแต่หัวใจไม่เต้น ท้องลม ท้องนอกมดลูกหรือแม้แต่เคยตรวจเลือดพบว่าท้อง (ฮอร์โมน hCG ขึ้นสักพักก็ลงไปเอง)
3. #ความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดง (Hct) 40% ขึ้นไป หญิงวัยเจริญพันธุ์มีประจำเดือนทุกเดือนหนะ ถ้าเลือดออกปกติจะมี Hct สัก 35-39% นะ ถ้าคนไหนเลือดเข้มข้นเกิน 40% ขึ้นไปก็สังเกตดี ๆ
4. #ไปตรวจกับหมอมีบุตรยาก แต่รักษาแล้วไม่ท้องสักที ไม่ว่าจะทำเด็กหลอดแก้ว ตรวจโครโมโซมแล้ว ก็ยังไม่ติด หมอจะบอกงี้ ปกติหญิงวัยเจริญพันธุ์ร้อยละ 80 พบเนื้องอกมดลูก หญิงมีบุตรยากร้อยละ 50 พบเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ สาเหตุเหล่านี้ตรวจพบได้ง่ายด้วยอัลตราซาวนด์ปกติ ถ้ามดลูกปกติมาก ๆ เลยนี่ก็ควรให้สงสัยเหมือนกันว่าความปกตินี่มันปกติมุมไหนกันนะ นอกจากนี้สมการเบื้องตันของการมีลูกเลยคือต้องการ ตัวอ่อนปกติ + มดลูกปกติ ถ้าย้ายตัวอ่อนปกติมาสักพักแล้วยังไม่ท้องสักที หมอว่าน่าจะมองไปที่มดลูกบ้างก็ดี
วินิฉัยมดลูกวิรูปอย่างไร
มดลูกวิรูปรักษาอย่างไร
เอกสารอ้างอิง
พัฒน์ศมา วิจินศาสตร์วิจัย. บทที่ 11 มดลูกวิรูป Dysmorphic uterus. ใน พัฒน์ศมา วิจินศาสตร์วิจัย. ความผิดปกติแต่กำเนิดของมดลูก Congenital malformation of uterus. พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2565