ผ่าตัดแก้ไขมดลูกวิรูปผ่านกล้อง (Hysteroscopic metroplasty)
:SWOT analysis
นพ.พัฒน์ศมา วิจินศาสตร์วิจัย
วว.สูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา, วว.เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์,
ป.ผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช, MClinEmbryol,
EFOG-EBCOG., EFRM-ESHRE/EBCOG.
30 Sep 2023
SWOT analysis
ในระบบ quality management system ในระบบสาธารณสุขมีเครื่องมือหลากหลายชนิดเพื่อใช้วัดผล ประเมิน ตรวจสอบ ที่แตกต่างวัตถุประสงค์กันไป SWOT analysis เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้เพื่อประเมินตนเองเกี่ยวกับสิ่งใ่ดสิ่งหนึ่ง เช่น หน่วยงาน การรักษาโรคใดโรคหนึ่ง การผ่าตัด การตรวจอะไรต่าง ๆ ก็ได้ โดย SWOT มีความหมายดังนี้
S-Strengths หมายถึงจุดแข็ง จุดเด่น ความสตรองของสิ่งที่เราประเมินอยู่
W-Weakness ตรงไปตรงมาก็คือจุดอ่อน อะไรที่เรายังทำได้ไม่ดี ปัญหาที่ยังแก้ไขไม่ได้
O-Opportunitiesโอกาส หมายถึงมีสถานการณ์อะไรที่จะทำให้สิ่งที่เราประเมินช่วยเสริมให้เรามีจุดแข็งมากขึ้น
T-Threats ความท้าทาย หมายถึงสถานการณ์อะไรที่อาจทำให้เกิดความเสี่ยงทำให้เรามีจุดอ่อนมากขึ้น
พูดง่าย ๆ ก็คือ SWOT analysis เป็นการประเมินตนเองเพื่อให้รู้เขา รู้เรา และประเมินสถานการณ์อันใกล้และไกลว่าจะมีอะไรที่ส่งผลกระทบกับสถานภาพของสิ่งที่เราประเมินอยู่หรือเปล่า หรือพูดให้ง่่ายไปอีก SWOT analysis อารมณ์เหมือน meme ปีที่แล้วที่เค้าฮิต ๆ กัน ที่เป็น จุดแข็ง..... จุดอ่อน........นั่นเอง
Hysteroscopic metroplasty ผ่าตัดปรับมดลูกผ่านกล้อง
การผ่าตัดปรับแก้ไขมดลูกวิรูปผ่านกล้อง (hysteroscopic metroplasty) เป็นการรักษามดลูกวิรูป (dysmorphic T-shaped uterus) ในคนไข้มีบุตรยากหรือมีประวัติแท้งบ่อยที่พบว่ามีมดลูกวิรูป โดยการใ้ช้กล้องส่องโพรงมดลูกซึ่งเป็นกล้องขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 4-5 มม. เข้าไปในโพรงมดลูกเพื่อปรับให้กล้ามเนื้อมดลูกที่เกินผิดปกติมาราบลงไป (รูปภาพที่ 1)
รูปภาพที่ 1 กล้องส่องโพรงมดลูก (hysteroscope) ที่หมอใช้ที่คลินิก Life by Dr. Pat เป็นรุ่น TrophyScope บริษัท Karl-Storz ประเทศเยอรมัน มีความพิเศษคือสามารถใช้วินิจฉัยและผ่าตัดได้ในตัวเดียวกันไม่ต้องถอดกล้องออกมาจากคนไข้เพื่อใส่กล้องเข้าไปใหม่
Hysteroscopic metroplasty ยังไม่เป็นการรักษาที่ได้รับการยอมรับทั่วไปว่าเป็นการมาตรฐานเนื่องจากความจำกัดของจำนวนผู้ป่วยทำให้ยังไม่มีการวิจัยแบบ randomized-controlled study เปรียบเทียบผลการตั้งครรภ์ระหว่างผู้ป่วยที่ผ่าตัดและไม่ผ่าตัด แม้ว่าการศึกษาทุกการศึกษาเกี่ยวกับผลการตั้งครรภ์หลังการผ่าตัดจะไปในแนวทางเดียวกันคืออัตราการตั้งครรภ์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการตั้งครรภ์เอง อัตราการคลอดมีชีพเพิ่มขึ้นและอัตราการแท้งและคลอดก่อนกำหนดลดลง
SWOT analysis ของ hysteroscopic metroplasty
Carrera M และคณะ ได้รวบรวมข้อมูลการศึกษาการผ่าตัด hysteroscopic metroplasty ในคนไข้มดลูกวิรูปในรูปแบบของ SWOT analysis ซึ่งหมอเห็นว่าน่าสนใจดี ดังแสดงในรูปภาพที่ 2 จึงนำมายำใหม่ให้ดูกัน
รูปภาพที่ 2 แสดง SWOT analysis ของการผ่าตัดปรับมดลูกผ่านกล้อง (hysteroscopic metroplasty)
Strengths
สำหรับจุดแข็งของ hysteroscopic metroplasty ก็คือ การตั้งครรภ์หลังผ่าตัด โดยพบว่าเป็นการท้องเองโดยไ่ม่ต้องทำเด็กหลอดแก้วถึงเกือบครึ่งนึง ลดการแท้งและการคลอดก่อนกำหนด โดยเฉพาะในคนไข้หลายรายที่มีประวัติรักษามีบุตรยากมาอย่างโชกโชน ทำเด็กหลอดแก้วมาหลายรอบแล้วปรากฎว่าท้องเองหลังผ่าตัดเนี่ย
นอกจากนี้เกือบทุกการศึกษามีหลักการผ่าตัดที่ใกล้เคียงกันมาก ๆ มีเพียง 1-2 การศึกษา (จากหลายสิบ) เท่านั้นที่ผ่าตัดด้วยเทคนิคที่แตกต่างไป
Weakness
จุดอ่อนอันดับแรกของมดลูกวิรูปคือเกณฑ์การวินิจฉัย หมอที่เชี่ยวชาญด้านนี้เวลาตรวจอัลตราซาวนด์สามมิติหรือดูโพรงมดลูกผ่านกล้องเรามักจะให้การวินิจฉัยไปในทางเดียวกันแหละกับผู้ป่วยที่ปกติกับผิดปกติ แต่การเลือกเกณฑ์ที่เอามาวัดในการวินิจฉัยปรากฎว่ามีหลากหลายเกณฑ์และยังไม่มีเกณฑ์ไหนที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันว่าเอาอันนี้แหละ
การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการรักษาโรคนี้มีการเลือกคนไข้ที่หลากหลาย ทั้งอายุ ทั้ง่ประวัติมีบุตรยากอย่างเดียว แท้งบ่อยอย่างเดียวหรือมีทั้งมีบุตรยากและแท้งบ่อย ฯลฯ ทำให้เมื่อมารวมกันแล้วพลังยังไม่ค่อยเยอะ
สุดท้ายก็คือการผ่าตัดทุกอย่างมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน แม้ว่า hysteroscopic metroplasty ในปัจจุบันสามารถทำได้อย่างปลอดภัยที่คลินิกเนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการผลิตกล้องที่มีขนาดเล็กลง การใช้น้ำเกลือธรรมดาทำให้มดลูกป่องขณะผ่าตัด
Opportunities
การส่องกล้องเข้าไปดูโพรงมดลูก นอกจากจะได้ผ่าตัดปรับมดลูกวิรูปแล้วยังเป็นโอกาสที่เข้าไปดูเยื่อบุโพรงมดลูกด้วยว่ามีลักษณะผิดปกติ เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบเรื้อรัง (chronic endometritis) หรือมีพยาธิสภาพในโพรงมดลูก ได้แก่ ติ่งเนื้อในโพรงมดลูก (endometrial polyp) หรือ submucous myoma หรือไม่
โอกาสอีกอย่างก็คือการตั้งครรภ์เองหลังผ่าตัด สัดส่วนอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละการศึกษา อย่างคนไข้ที่หมอรวบรวมข้อมูลอยู่พบว่าคนไข้ท้องเองหลังผ่าตัดประมาณร้อยละ 40
Threats
ความท้าทายที่สำคัญก็คือการตรวจติดตามหลังการผ่าตัด ต้องใช้ประสบการณ์ของหมอผู้ตรวจในความเห็นหมอต้องใช้มากกว่าตอนวินิจฉัยด้วยซ้ำ
เรื่องมดลูกวิรูปนี่หมอว่ายังมีอะไรที่เรายังไม่รู้อีกเยอะ และยังต้องการข้อมูลอีกมากมายในหลาย ๆ มุม ถือว่าเป็นอะไรที่ท้าทายเหมือนกันเนาะ
เอกสารอ้างอิง
Carrera M, Alonso L, Dominguez JA, et al. Hysteroscopic metroplasty for the treatment of the dysmorphic uterus: A swot analysis. Front Surg. 2022;9:1097248. doi:10.3389/fsurg.2022.1097248